วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555

โรคหลอดเลือดในสมองแตก


โรคหลอดเลือดสมองแตก

 
โรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมอง โดยทั่วไปมักเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต โรคนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และโรคหลอดเลือดสมองแตก โรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน อาจเกิดจากการตีบตันที่หลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากการมีลิ่มเลือดหลุดจากที่อื่น เช่น จากหัวใจ และจากหลอดเลือดที่บริเวณคอมาอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้สมองบางส่วนขาดเลือด ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากการแตกของหลอดเลือดสมอง ทำให้มีเลือดออกมาคั่ง และทำลายเนื้อสมองในบริเวณนั้น นอกจากนี้อาจกดเบียดสมองส่วนที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้สมองส่วนนั้นทำหน้าทั่ไม่ได้ตามปกติ เกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต
โรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาที่พบ บ่อย และสำคัญของประเทศซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 การป้องกันในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัย และรักษาที่ทันเวลา ช่วยลดความพิการ และอัตราตาย รวมทั้งลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ โรคหลอดเลือดสมองจัดเป็นภาวะเร่งด่วนทางอายุรศาสตร์ และศัลยศาสตร์ เวลาเป็นสิ่งสำคัญ การขาดเลือดของสมองทำให้เซลล์สมองตายมากขึ้นเมื่อเวลานานขึ้นจึงควรรีบให้ การรักษาอย่างรวดเร็ว

สาเหตุ
  1. สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรืออุดตัน ได้แก่ ภาวะหลอดเลือดแข็ง ซึ่งเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือด มีไขมัน และหินปูนมาจับ พบได้ทั้งในหลอดเลือดสมองเอง และหลอดเลือดใหญ่ที่คอ มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่
  2. บางคนเกิดจากโรคหัวใจที่มีลิ่ม เลือดหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมอง เช่น โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  3. ส่วนน้อยเกิดจากหลอดเลือดสมองอักเสบ และโรคเลือดบางชนิด
  4. ส่วนสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองแตกที่สำคัญที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูง บางรายอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองผิดปกติแต่กำเนิด

อาการ
  1. เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกายทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานทุกระบบ เช่น การเคลื่อนไหว ระบบประสาทสัมผัสต่างๆ เป็นต้น สมองในตำแหน่งต่างๆ ทำหน้าที่แตกต่างกันไป ดังนั้นอาการของโรคหลอดเลือดสมองจึงเกิดขึ้นได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรคหากสมองส่วนใดสูญเสียการทำงานไป ก็จะเกิดอาการผิดปกติของร่างกายในระบบที่สมองบริเวณนั้นควบคุมอยู่ อาการมักเกิดอย่างรวดเร็ว หรือทันทีทันใด เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงทันที แต่ในบางครังอาจมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ หรือค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาอันสั้น
  2. อาการที่พบบ่อยมีหลายอย่าง ได้แก่ อ่อน แรงของร่างกายครึ่งซีก ชาครึ่งซีก เวียนศรีษะ ร่วมกับเดินเซ ตามัว หรือมองเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปวดศรีษะ อาเจียน ซึม ไม่รู้สึกตัว ที่สำคัญคืออาการดังกล่าวข้างต้น หากเกิดขึ้น และหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นอาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง ท่านควรไปพบแพทย์ด่วน พึงระลึกไว้เสมอว่าเมื่อมีอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีอย่ามัวรอดูอาการ
  3. หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงได้หลายลักษณะ คือ บางคนจะดีขึ้นเองภายใน 24 ชั่วโมง บางคนอาการแย่ลงภายใน 1-3 วันแรกจากหลอดเลือดสมองมีการอุดตันมากขึ้น บางคนอาการมากที่สุดในตอนแรกเกิดอาการและคงที่ และบางคนเกิดปัญหาสมองบวมตามมาซึ่งอาจทำให้อาการทรุดหนักซึ่งโดยทั่วไปมัก เกิดภายใน 3-4 วันแรก หลังจากพ้นระยะนี้ไปจะเป็นช่วงการฟื้นตัว ซึ่งแต่ละคนจะมีการฟื้นตัวได้ไม่เท่ากัน บางรายสามารถฟื้นได้เป็นปกติ บางรายอาจยังมีความพิการหลงเหลืออยู่



อาการเตือน
  1. อาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หรือไม่มีแรงครึ่งซีกที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรืออาการชาของแขน หรือขาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเป็นครั้งคราว
  2. ภาวะที่มีอาการชาหรืออ่อนแรงของใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง
  3. อาการสับสน ระดับการรับรู้เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวลง ภาวะที่พูดลำบาก กระตุกกระตักหรือพูดไม่ชัด โดยอาการเป็นชั่วคราว หรืออาจจะนึกพูดไม่ได้เป็นครั้งคราว
  4. ภาวะที่ตามืดหรือมองไม่เห็นไปชั่วครู่ หรืออาจจะเห็นแสงที่ผิดปรกติ หรือเห็นภาพซ้อน จัดเป็นอาการผิดปกติของการมองเห็น
  5. อาการวิงเวียนบ้านหมุน หรือเป็นลม เดินเซ ไม่สามารถทรงตัวได้
  6. อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปวดมาก่อน มักเกิดขึ้นขณะปฏิบัติกิจกรรมที่เคร่งเครียด หรือกำลังอยู่ในภาวะอารมณ์ที่รุนแรง
  7. กลืนอาหารสำลักบ่อยๆ
การวินิจฉัย
  1. อาศัยการซักถามประวัติอาการของ ผู้ป่วยโดยละเอียดการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท รวมทั้งการตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์
  2. การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง โดยการซักประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจค้น สามารถให้การวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ลักษณะเฉพาะของโรคหลอดเลือดสมองคือ มีปัจจัยเสี่ยง อาการเกิดขึ้นทันทีทันใด มีความผิดปกติทางระบบประสาทจากการสูญเสียหน้าที่ของสมองอธิบายได้ตามรอยโรค ของพื้นที่ที่สมองขาดเลือดจากเส้นเลือดจำเพาะ
  3. การตรวจภาพถ่ายทางรังสีของสมอง และหลอดเลือดสมอง CT, MRI ของสมอง ตรวจหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง เลือดออกในสมอง หรือสมองขาดเลือด ในภาวะสมองขาดเลือด MR Diffusion weight image (DWI) ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเมื่อสมองขาดเลือดเร็วขึ้นใน 3 ชม.
  4. MR Spectroscopy, PET, SPECT ตรวจการทำงานสมอง
  5. Cerebral angiography การฉีดสีเข้าเส้นเลือด และถ่ายภาพเอ็กซเรย์เส้นเลือดสมองเป็นวิธีมาตราฐานในการวินิจฉัยโรคหลอด เลือดสมอง ปัจจุบันมีการพัฒนา CT และ MRI เพื่อให้เห็นภาพเส้นเลือดสมองทดแทน ได้แก่ CT.Angiography (CTA), MR Angiography (MRA) เส้นเลือดแดง, MRVenography (MRV) เส้นเลือดดำ
  6. การตรวจด้วยคลื่นเสียง อุลตราโซนิค DUPLEX ultrasound เพื่อตรวจวัดขนาดภายในหลอดเลือดที่คอ ภาวะการตีบ และอุดตันของเส้นเลือดนอกกะโหลกศีรษะ Transcranial Doppler ultrasound (TCD) ตรวจวัดความเร็วในหลอดเลือดของเส้นเลือดสมอง เพื่อหาความผิดปกติจากการตีบตัวหรือการอุดตัน

การรักษา
  1. การรักษาในระยะแรกทำได้ยาก เรื่องสำคัญ คือต้องพยายามทำให้เลือดหยุด ลดความดันในสมอง ช่วยให้สัญญาณชีพอยู่ในภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความดันโลหิต
  2. พิจารณาใช้ยาลดความดันโลหิต ยาลดสมองบวม โดยปรับขนาดของยาตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
  3. พิจารณาใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด และยาระงับชัก เมื่อมีข้อบ่งชี้
  4. เฝ้าติดตามอาการของผู้ป่วยอย่าง ใกล้ชิด ตรวจบันทึกอาการแสดงของภาวะความดันในสมองเพิ่มสูงขึ้น ระดับความรู้สึกตัว ติดตามความรุนแรงของอาการปวดหัว
การผ่าตัด
  1. ในรายที่มีเลือดออกจำนวนมาก ผู้ป่วยมีอาการเลวลงอย่างรวดเร็ว บางรายอาจต้องผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมหลอดเลือดที่ฉีกขาด
  2. เวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแตก ตีบ และตัน โดยเฉพาะ 3 ชั่วโมงแรกที่มีอาการ ดังนั้น ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทางสมองภายในระยะดังกล่าว แพทย์อาจจะใช้ยาฉีดเพื่อละลายลิ่มเลือดให้เลือดไหลเวียนได้ปกติ แต่ยานี้จะใช้ได้ในบางรายเท่านั้น หลังจากนั้นแพทย์อาจจะรับตัวไว้รักษาในห้องรักษาผู้ป่วยหนัก เพื่อให้ยา และสังเกตอาการรวมทั้งการหลับ ตื่น การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ การเคลื่อนไหว การกลืนอาหาร เมื่อพ้นระยะเฉียบพลันไปแล้ว 4 - 5 วัน หรือประมาณ 1 อาทิตย์ ผู้ป่วยจะถูกย้ายไปรักษาในหอผู้ป่วยหลอดเลือด
  3. สำหรับการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด อาจจะเริ่มภายใน 1 - 2 วันแรก แล้วทำกายภาพอย่างต่อเนื่องหลังจากอาการต่างๆ คงที่

การผ่าตัดในกรณีภาวะเส้นเลือดแตกในสมอง (hemorrhagic stroke)
  1. การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเอาก้อนเลือดออก craniotomy remove blood clot
  2. การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะหนีบเส้นเลือดสมองโป่งพอง craniotomy aneurysm clipping
  3. การตัดต่อเส้นเลือดสมองเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองในกรณีที่มีการทำลายเส้นเลือด vascular bypass and revascularization
  4. การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะตัดเส้นเลือดผิดปกติออก craniotomy resection of AVM, AVF
  5. การผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินน้ำหล่อ โพรงสมองเมื่อเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง ผ่าตัดระบายน้ำในโพรงสมองออกนอกร่างกาย หรือระบายลงช่องท้อง CSF diversion
  6. การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะลดความดันในกะโหลกศีรษะ decompressive craniectomy
การป้องกัน
  1. ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี วัดความดันโลหิตอย่างน้อยปีละครั้ง เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด เป็นระยะตามที่แพทย์แนะนำ ตรวจร่างกายว่ามีความผิดปกติของหัวใจหรือไม่ ถ้าผิดปกติต้องควบคุม และติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  2. เลิกสูบบุหรี่ พบว่าการเลิกสูบบุหรี่สามารถลดโอกาสเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ครึ่งหนึ่ง
  3. ลดน้ำหนักถ้ามีน้ำหนักเกิน งดอาหารรสเค็ม และไขมันสูง
  4. ออกกลังกายสมำเสมอ
  5. ผ่อนคลายความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอ
  6. ในรายที่มีความเสี่ยงอาจเกิดโรค หลอดเลือดสมองตีบได้ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยากันเลือดแข็งตัวเพื่อป้องกันอัมพาต ควรปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามคำแนะนำอย่างใกล้ชิด
  7. ในรายที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ต้องรับประทานยาป้องกันการเกิดซ้ำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่งดยาเอง
  8. ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น